ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

                                                                          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
– ลำต้น
ต้นพริกขี้หนูมีการเติบโตของกิ่งแบบ Dichotomous คือ กิ่งแตกออกจากลำต้นเพียงกิ่งเดียวและจะแตกเพิ่มเป็น 2 เท่า เรื่อยๆ เป็น 2 กิ่ง เป็น 4 กิ่ง และ 8 กิ่ง จนมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม

– ราก
รากพริกขี้หนู ประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอยจำนวนมาก มีลักษณะการแผ่ออกด้านข้างเป็นรัศมีได้มากกว่า 1 เมตร และหยั่งลึกได้มากกว่า 1.20 เมตร บริเวณรอบๆโคนต้นจะมีรากฝอยสานกันหนาแน่น

– ใบ
ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว มีลักษณะแบนเรียบ สีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบเป็นมัน มีขนปกคลุมเล็กน้อย รูปร่างของใบมีลักษณะรูปไข่จนถึงเรียวยาว ปลายใบแหลม ใบออกบริเวณกิ่งแบบตรงข้ามกัน และมีขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ แต่ทั่วไปใบพริกขี้หนูจะมีขนาดเล็กในระยะต้นกล้า และมีขนาดใหญ่ เมื่อต้นโตเต็มที่

– ดอก
พริกขี้หนูเป็นดอกชนิดเดี่ยว ขนาดเล็ก แตกออกบริเวณข้อตรงที่มุมด้านบนของก้านใบหรือกิ่ง อาจมีดอกเดียวหรือหลายดอกในจุดเดียวกัน ก้านดอกตรงหรือโค้ง ดอกมีกลีบรอง มีลักษณะเป็นพู สีขาวหรือสีม่วงประมาณ 5 กลีบ เกสรตัวผู้มีประมาณ 1-10 อัน แตกออกจากโคนขที่กลีบดอก อับเกสรตัวผู้มักมีสีน้ำเงิน เป็นกระเปราะขนาดเล็ก และยาว ส่วนเกสรตัวเมียมี 1- 2 รังไข่ มีลักษณะชูขึ้นเหนือเกสรตัวผู้ รูปร่างเหมือนกระบองหัวมน รังไข่มี 3  – 4 พู มักจะออกดอก และติดผลในช่วงวันสั้น

ดอกพริกขี้หนู (1)

– ผล
ผลพริก เป็นผลประเภท Berry มีลักษณะเป็นกระเปาะ มีฐานที่ชั้นผลสั้น และหนา ผลอ่อนมักชี้ขึ้น แต่เมื่อแก่ผลจะห้อยลง ผลมีลักษณะแบน กลมยาว จนถึงพองอ้วนสั้น ผลมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ผนังผล ( Pericarp ) อาจบางหรือหนา มีความเผ็ดแตกต่างกันตามพันธุ์ ผลเมื่ออ่อนสีเขียวเข้ม บางพันธุ์อาจมีสีขาวออกเหลืองเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นแดงหรือเหลือง ขนาดผลทั่วไปประมาณ 1- 1.5 นิ้ว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/4 -2/3 นิ้ว เมล็ดด้านในจะเกิดรวมกันที่รก (Placenta) ตลอดจากโคนจนถึงปลายผล ในช่วงที่ผลพัฒนา หากอุณหภูมิในช่วงกลางวันสูง ความชื้นต่ำ จะทำให้ผลมีรูปร่างบิดเบี้ยว ผลมีขนาดเล็ก การติดเมล็ดต่ำพริกขี้หนู

 

– เมล็ด

เมล็ดพริกขี้หนูจะเกิดรวมกันที่รก (Placenta) ตลอดแนวยาวจากโคนถึงปลายผล เมล็ดมีรูปร่างคล้ายเมล็ดมะเขือเทศ คือ มีรูปกลม แบน สีเหลืองจนถึงสีน้ำตาล ผิวเมล็ดไม่ค่อยมีขนเหมือนผลในมะเขือเทศ แต่มีขนาดใหญ่กว่า

พริกขี้หนูตำ2

การผสมเกสรของพริกขี้หนูสามารถเกสรด้วยการผสมตัวเอง ( Self pollination ) แต่อาจเกิดการผสมข้ามต้น ( Cross pollination ) ที่ 9 – 32 % โดยอาศัยธรรมชาติ คือ กระแสลม และแมลงต่างๆ  ลักษณะความพร้อมของเกสรจะ พบว่า เกสรตัวผู้มักพร้อมที่จะผสมได้หลังจากดอกบานแล้ว 2-3 วัน แต่เกสรตัวเมียพร้อมที่จะผสมทันทีที่ดอกบาน จึงทำให้เกสรตัวผู้จากดอกหรือต้นอื่นเข้าผสมได้ก่อน ลักษณะการผสมเกสรของพริกดังกล่าวจึงทำให้เกิดพันธุ์พริกใหม่ๆมากขึ้น จาการผสมข้ามต้นหรือข้ามสายพันธุ์